หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

10 สิ่งแรกที่คุณต้องทำกับ Windows 7



สิ่งที่เราจะพูดถึง
  • ทำความรู้จักกับ Windows 7
  • การจัดการกับเทคโนโลยี Volume activation เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด
  • การวางแผน Roadmap
  • การจัดการกับฟังก์ชันรักษาความปลอดภัยแบบกระจายอันใหม่
  • เดสก์ท๊อปและโครงสร้างพื้นฐานแบบเสมือน
  • การถอดสิทธิ์ผู้ใช้งานระดับเครื่องคอมพิวเตอร์
เนื้อหา
ตอนที่เรานั่งไล่ดูฟังก์ชันและสิ่งที่ได้รับการพัฒนาใหม่ ๆ ในระบบ Windows 7 (ลองไปดูตารางเปรียบเทียบของฟังก์ชันงานได้ที่ tinyurl.com/win7featuregrid) คุณคงนั่งเกาหัวพลางคิดว่า จะทำอย่างไรดีเพื่อสามารถศึกษาฟังก์ชันใหม่ ๆ เหล่านี้พร้อมกับลงระบบให้ผู้ใช้งานได้ใช้โดยไม่ให้มีการสะดุดมากนัก ต่อไปนี้คือคำแนะนำ 10 ประการที่จะทำให้คุณไปถึงฝั่งฝันได้

1. ทำความรู้จักกจี่กับเจ้า Windows 7 ให้มากเข้าไว้

สิ่งที่ควรต้องทำประการแรก คือ พยายามทำความคุ้นเคยกับระบบ Windows 7 ให้มากที่สุด คุณควรจะลงระบบ Windows 7 ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องนอกเหนือจากเครื่องในแล็บทดลองของคุณด้วย ทั้งคอมพิวเตอร์ทุกตัวในองค์กรและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เผื่อในกรณีที่ต้องรีโมทเข้ามาแก้ไขปัญหาฉุกเฉิน พยายามปรับตัวเองให้หาทางออกสำหรับทุกอย่างเพื่อให้ทุกอย่างทำงานได้ เครื่องมือที่ใช้จัดการเซิร์ฟเวอร์ที่ลง Windows นั้นมีอยู่เกือบทั้งหมดใน Windows 7 Remote Server Administration Tools (RSAT) แล้ว แต่ต้องดาวโหลดมาใช้ต่างหาก ขณะที่เรากำลังเขียนบทความนี้อยู่ แพ็คเกจของ RSAT ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีครับ
ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าหากในโฟลเดอร์ Administrative Tools ไม่มีรายละเอียดใด ๆ เลยหลังจากที่ลงแพ็คเกจ RSAT เสร็จ เพราะ RSAT นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Window Feature ที่เราจะต้องไปเปิดใช้งานครั้งแรกเองผ่านทาง Programs and Features ใน Control Panel ดูรูปที่ 1 ประกอบ ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถทราบได้ (แต่ผมคิดว่าคงเป็นเหตุผลที่ดีพอสมควรครับ) เราต้องกดเลือกทีละ Feature ในนั้น และถ้ากดเลือกที่โฟลเดอร์ใหญ่ที่มีโฟลเดอร์ย่อย ๆ ในนั้น โฟลเดอร์ย่อย ๆ ก็ไม่ได้ถูกเลือกตามไปด้วย ดังนั้นเราต้องกดเลือกทีละอันเอง
Windows7 Feature
รูปที่ 1 Windows 7 RSAT Feature List (คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาด)
เครื่องมือ Active Directory RSAT สามารถทำงานร่วมกับตัวจัดการโดเมนระบบ Windows 2003 และ Windows 2008 ได้ แต่จะมีฟังก์ชันบางตัว อย่างเช่น Active Directory Recycle Bin ที่ต้องการระบบ Windows Server 2008 R2 การจัดการระบบ Exchange 2003 จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ลงระบบ Windows 7 นั้นอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะในส่วนของคอนโซลที่ใช้จัดการระบบ Exchange หรือ ESM ที่มากับแผ่นลงระบบ Exchange 2003 นั้นไม่สามารถทำงานบนระบบ Windows 7 ได้ แต่ก็ยังมี ESM เวอร์ชั่นพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อ Windows Vista โดยเฉพาะและสามารถดาวโหลดได้ที่ tinyurl.com/esmvista คอนโซลตัวนี้จะสามารถทำงานบนระบบ Windows 7 ได้เป็นอย่างดี แต่ตัวติดตั้งจะเช็คว่าต้องมีระบบ Windows Vista (Windows 6.0.0) โดยเฉพาะ และไม่รองรับระบบ Windows 7 แต่เราสามารถไปดาวโหลดโปรแกรม Orca ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรีของไมโครซอฟต์มาใช้แก้ไขไฟล์ MSI เพื่อไม่ให้เช็คเวอร์ชั่นตอนลง โปรแกรม Orca นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Windows Installer SDK เราสามารถไปดาวโหลดวิธีการใช้งานได้ที่tinyurl.com/orcamsi แต่เราแนะนำให้คุณดาวโหลด ESM ในโหมดของ XP จะง่ายกว่า ซึ่งเราจะอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้ง

2. เรียนรู้เกี่ยวกับ Windows PowerShell

อาจกล่าวได้เลยทีเดียวว่า ทักษะที่ผู้ดูแลระบบ Windows ควรจะต้องมีในอนาคตคือ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานโปรแกรม Windows PowerShell ทั้งระบบ Windows 7 และระบบ Windows Server 2008 R2 นั้นมีโปรแกรม PowerShell เวอร์ชั่น 2 ติดมาและเปิดมาโดยอัตโนมัติอยู่แล้วด้วย เราควรลงระบบ Windows PowerShell เวอร์ชั่น 2 กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์และเครื่องเดสก์ท๊อปที่เหลือ เพื่อที่เราจะได้สคริปต์ตัวเดียวในการจัดการเครื่องทุกเครื่องได้ทั้งหมด (แต่ข้อพึงระวังก็คือ เราไม่สามารถลง PowerShell v2 ที่เซิร์ฟเวอร์และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบ Exchange 2007 เครื่องที่เป็นเช่นนี้ต้องลงระบบ PowerShell v1.1 แทน และมีฟังก์ชันไว้ให้เราเลือกใช้งานมากมายเช่นกัน)
ต่อให้เราเป็นผู้ดูแลระบบที่เป็นแฟนพันธุ์แท้โปรแกรมควบคุมแบบ GUI อย่างแท้จริง และไม่ได้ใช้งานหน้าจอแบบ command prompt คุณก็จะเห็นว่าโปรแกรมที่เป็นแบบ GUI ทั่วไปของไมโครซอฟต์นั้นจะมีหน้าตาหน้าจอสวยงามครอบอยู่บน PowerShell cmdlets อีกที เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยบอกชื่อคำสั่งให้คุณ ถ้าคุณรู้ว่าต้องไปหาจากที่ไหน นี่เป็นตัวอย่างที่ง่ายที่สุดที่คุณจะได้เห็นว่า cmdlets ทำงานอย่างไรครับ
นอกจากนี้ เรายังหาข้อมูลเกี่ยวกับ Windows PowerShell จากแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงหนังสือ Windows PowerShell in Action ของสำนักพิมพ์ Manning Publications ตีพิมพ์เมื่อปี 2007 เขียนโดยบรูซ พาเยตต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่เขียน Windows PowerShell หนังสือเล่มนี้กำลังจะมีฉบับใหม่ตามมา ซึ่งคุณสามารถหาซื้อบทแรก ๆ มาอ่านก่อนได้ และยังสามารถจองหนังสือและซื้อเวอร์ชั่นอิเล็กทรอนิกส์มาอ่านได้ที่เว็บไซต์ของผู้เขียน manning.com/payette2 นอกจากนั้น ลองอ่าน Windows PowerShell Pocket Reference ที่ตีพิมพ์โดย O'Reilly Media Inc ปี 2009 เขียนโดยลี โฮล์มส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่เขียน Windows PowerShell เช่นกัน และลองเข้าไปดูที่บล็อกของทีม Windows PowerShell ด้วยก็จะดีครับ โดยไปที่ blogs.msdn.com/PowerShell ในเว็บนี้ คุณจะได้พบกับทีมงานนักพัฒนาระบบที่โต้ตอบกับคนอ่านมากที่สุด คำพูดที่ปรากฏในเว็บไซต์ควรค่าแก่การอ่านทุกคำ ควรจะอ่านสองรอบเสียด้วยซ้ำไป
มีข่าวดียิ่งกว่านี้อีก โปรแกรม Windows 7 RSAT มี Active Directory Windows PowerShell cmdlets ตัวเดียวกับที่ใช้ในระบบ Windows Server 2008 R2 ลองดูรูปที่ 2 เป็นตัวอย่าง แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดเกี่ยวกับเครื่องมือตัวนี้คือบล็อกของโปรแกรม Active Directory PowerShell ที่ tinyurl.com/psadblog
Windows7: ADPowerShell cmdlets in action
รูปที่ 2 ADPowerShell cmdlets in action. (คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาด)
เราสามารถใช้ Active Directory cmdlets ในการจัดการโดเมนที่รันระบบ Windows 2003 และ Windows 2008 ได้ แต่ก่อนอื่นเราจะต้องลง AD Management Gateway Service หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า AD Web Services หรือ ADWS ที่ตัวจัดการโดเมนอย่างน้อยตัวหนึ่งเสียก่อน ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ โปรแกรม ADWS เป็นเวอร์ชั่นเบต้า และสามารถดาวโหลดมาใช้งานได้จาก connect.microsoft.com โปรแกรม ADWS ต้องรันบนระบบ Windows Server 2003 SP2 (แบบธรรมดาหรือ R2) หรือระบบ Windows Server 2008 แบบธรรมดาหรือ SP2 เช่นกัน คุณยังต้องลงโปรแกรม .NET Framework 3.5 SP1 ด้วย (หาดาวโหลดได้จาก tinyurl.com/dotnet35sp1) และโปรแกรม Hotfix (หาดาวโหลดได้จาก support.microsoft.com/kb/969429) ซึ่งสนับสนุนระบบเว็บใน Netlogon (โปรแกรม Hotfix มาพร้อมกับระบบ Windows Server 2008 SP2)
ถ้าคุณเป็นผู้หนึ่งที่ทำงานอยู่ในองค์กรที่กว่าจะขออนุญาตให้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในตัวจัดการโดเมนได้ต้องใช้ความพยายามและเวลาอย่างมาก และคุณก็ไม่อยากรอจนหัวหงอกขึ้น กว่าจะได้ใช้โปรแกรม PowerShell ในการจัดการ Active Directory ลองไปดาวโหลด Active Directory cmdlets เวอร์ชั่นฟรีจาก Quest Software มาใช้ดูสิครับ โดยไปที่quest.com/PowerShell

3. ลุยจัดการไลเซ็นต์

ถ้าองค์กรของคุณไม่ได้ลงระบบ Vista คุณก็อาจจะไม่คุ้นเคยกับฟังก์ชันที่เรียกว่า Volume activation ซึ่งเป็นการเปิดใช้งานไลเซ็นต์หรือสิทธิการใช้งานหลาย ๆ ตัวพร้อมกัน ถ้าองค์กรของคุณมีเครื่องเดสก์ท๊อปมากกว่า 25 เครื่องและ/หรือมีเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 5 เครื่องขึ้นไป ถ้าองค์กรของคุณอยากใช้ประโยชน์จากโปรแกรมชนิด Volume license อย่างโปรแกรม Enterprise Agreement หรือ Select Agreement ถ้าองค์กรของคุณซื้อระบบ Windows 7 เวอร์ชั่น Professional หรือ Ultimate (หรือไม่ก็อัพเดตมาเป็นเวอร์ชั่นนั้น ตามแผนการของ Software Assurance) คุณควรจะปฏิบัติดังต่อไปนี้ครับ กล่าวคือ ควรดาวโหลดเอกสารหัวข้อ Volume Activation มาจาก tinyurl.com/volact นอกจากนี้ผมแนะนำให้คุณไปดาวโหลด webcast เจ๋ง ๆ (tinyurl.com/volactwebcastwin7) ที่จัดทำโดยคิม กริฟฟิธส์ เธอสามารถอธิบายและจับรายละเอียดของโปรแกรมนี้ได้อย่างเยี่ยมยอด
โดยสรุปแล้ว ถ้าเราต้องการจะเปิดใช้งานระบบ Windows 7 โดยใช้ Volume licenses เราอาจต้องลง Key Management Server (KMS) ด้วยเช่นกัน เราใช้คำว่า “อาจ” นะครับ เพราะในองค์กรอาจมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เยอะพอที่จะรองรับการเปิดใช้งานไลเซ็นต์ที่ KMS ได้ เครื่องเซิร์ฟเวอร์ KMS นี้จะไม่ทำการยืนยันการขอเปิดไลเซ็นต์จนกว่าจะได้รับการร้องขอจากเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างต่ำ 25 เครื่อง หรือไม่ก็เครื่องเซิร์ฟเวอร์ 5 เครื่องด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นการป้องกันพ่อค้าหัวใสไม่ให้ใช้คีย์ Volume license ตัวเดียวกับลูกค้ารายย่อยหลาย ๆ กลุ่ม และหลังจากที่มีการเปิดใช้งาน License ครั้งแรกแล้ว ลูกค้าจะต้องทำการเปิดอีกครั้งทุก ๆ 6 เดือน คุณอาจจะไปได้ยินข่าวลือมาว่าระบบ Windows 7 จะปิดฟังก์ชันบางตัวไปเท่านั้นถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น ขอบอกว่า ไม่จริงครับ ถ้าคุณไม่ Activate License อีก หน้าจอเดสก์ท๊อปนั้นจะกลายเป็นสีดำและจะมีบอลลูนโผล่ขึ้นมาบอกว่า ระบบปฏิบัติการของคุณไม่ใช่ไลเซ็นต์แท้ครับ
ถ้าในองค์กรมีเครื่องเดสก์ท๊อปจำนวนน้อยกว่าที่ KMS ระบุไว้ คุณก็สามารถไปหาซื้อ Multiple Activation Key (MAK) ซึ่งจะเปิดใช้งานไลเซ็นต์ได้ตามจำนวนที่ซื้อมา และสามารถเพิ่มเติมจำนวนไลเซ็นต์ได้ในช่วงที่เราต้องทำรายงานส่งไปที่ไมโครซอฟต์ว่าตอนนี้มีจำนวนไลเซ็นต์เท่าไหร่ หรือที่ไมโครซอฟต์เรียกว่า True-ups เจ้าตัวคีย์ MAK นี้จะโดนตรวจสอบจากเซอร์วิสแบบโฮสต์ของไมโครซอฟต์ ดังนั้น คุณควรจะต้องต่อเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ตหลังจากที่ลงระบบเสร็จแล้ว
แต่ในระบบ Windows 7 และ Windows Server 2008 R2 มีสิ่งที่พิเศษขึ้นมาครับ นั่นคือ คุณสามารถนับเครื่องเสมือนให้เป็น 1 ไลเซ็นต์ได้และสามารถรวมเข้าหนึ่งในจำนวนเครื่องที่สามารถมีสิทธิ์เปิดใช้งานด้วยเซิร์ฟเวอร์ KMS ได้ด้วย นี่เป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มจำนวนเครื่องได้ ถ้าหากคุณทำงานในร้านเล็ก ๆ ที่มีเครื่องเดสก์ท๊อปและเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือนหลาย ๆ เครื่อง
ถ้าคุณมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ KMS ใช้ในระบบ Vista และ Windows Server 2008 อยู่แล้ว คุณก็สามารถไปดาวโหลดเวอร์ชั่นอัพเดตมาใช้กับเครื่องที่ลงระบบ Windows 7 และ Windows Server 2008 R2 ได้

4. เน้นการพัฒนาด้านกลยุทธ์

หลังจากที่คุณทำความคุ้นเคยกับการจัดการระบบ Windows 7 และติดตั้งเทคโนโลยีที่จะมาเปิดใช้งานไลเซ็นต์แล้ว คุณควรจะเริ่มต้นวางแผนลงระบบนี้ให้กับผู้ใช้งาน และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณควรทำในขั้นตอนนี้ และเรารู้ว่านี่คือสิ่งที่คุณไม่อยากได้ยินเลยครับ นั่นคือ การเรียกผู้ใช้งานเข้าประชุม
โดยการประชุมที่ว่านี้จะแตกต่างจากการประชุมแบบธรรมดา ๆ ทั่วไปครับ นั่นคือ คุณจะต้องไปรวบรวมพลพรรครักไอทีที่ช่วยคุณลงระบบ Windows 7 ทุกคนมารวมกันไว้ในการประชุมครั้งนี้ครับ ตั้งแต่อาร์คิเทคของระบบ คนดูแลระบบเดสก์ท๊อป ทีมงานดูแลเซิร์ฟเวอร์ ช่างซ่อมเดสก์ท๊อป นักพัฒนาระบบในบริษัทและผู้จัดการโครงการด้วยครับ คุณต้องเรียกตัวแทนจากทุก ๆ ทีมและทุก ๆ หน่วยงาน มองการประชุมครั้งนี้เหมือนเป็นการประชุมระดับโลก ควรจะทำให้เป็นวันนัดรวมตัวอะไรกันเลยทีเดียว บอกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ได้ต้องเป็นคนเจ๋ง ๆ เท่านั้น เพื่อว่าพวกเขาจะได้ไม่ปฏิเสธการเข้าร่วมยังไงล่ะครับ
แต่ก่อนที่คุณจะเริ่มประชุม คุณควรจะเตรียมตัวเลขต่าง ๆ ให้พร้อม จะได้ไม่ต้องลำบากตอนหลัง ทั้งนี้เป็นเพราะว่า พอถึงจุดหนึ่ง จะต้องมีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “เราควรจะต้องนั่งรวบรวมแค็ตตาล็อกแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ นะ เพื่อใช้ในการทดสอบความเข้ากันได้และเครื่องเราใช้ Windows 7 ได้ทุกเครื่องจริงหรอ” และทั้งห้องประชุมก็จะนั่งถกเถียงกันไปอีกชั่วโมงสองชั่วโมงเกี่ยวกับเรื่องว่า เราจะรวบรวมแคตตาล็อกที่ว่านั้นอย่างไร หรือทำไมมันถึงทำไม่ได้ หรือเจ้าหน้าที่จากทีมเดสก์ท๊อปเคยเขียนข้อมูลเหล่านี้ไว้ในโปรแกรม Excel แล้ว แต่เขาไม่อัพเดตมาซักระยะแล้วล่ะ และในลิสต์นั้นไม่ได้รวมรายละเอียดเครื่องในภาคใต้ ภาคเหนือ และอีสานเสียด้วย
คุณสามารถประหยัดเวลาในการถกเถียงอันน่าเบื่อนี้ได้ด้วยเครื่องมือที่ใช้เก็บรายชื่อและวิเคราะห์ ซึ่งมีทั้งหมดสองตัวด้วยกัน เครื่องมือตัวแรกคือ Microsoft Assessment and Planning Toolkit (MAP 4.0) ซึ่งหาดาวโหลดได้จาก tinyurl.com/map40 โปรแกรมตัวนี้เป็นโปรแกรมที่ไม่ได้อาศัย Agent และจะคอยเก็บสถิติเครื่องเดสก์ท๊อปที่อยู่ในการดูแลของคุณ และรายงานว่าเครื่องใดที่พร้อมลงระบบ Windows 7 แล้วบ้าง เครื่องใดที่ต้องอัพเดตฮาร์ดแวร์เสียก่อน และเครื่องใดที่ไม่มีวันพร้อมที่จะลงระบบ Windows 7 เลยไม่ว่าคุณจะตกแต่งเครื่องอย่างไรก็ตาม โปรแกรม MAP นี้ยังจะสร้างกราฟวงกลมอันสวยงาม (ดูรูปที่ 3 ประกอบ) และตัวเลขสำหรับผู้ดูแลระบบอีกเป็นกอง (ดูรูปที่ 4 ประกอบ)
Windows7 : Microsoft Assessment and Planning Toolkit 4.0 Assessment Summary
รูปที่ 3 Microsoft Assessment and Planning Toolkit 4.0 Assessment Summary (คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาด)

Windows7 : Microsoft Assessment and Planning Toolkit 4.0 Assessment Details
รูปที่ 4 Microsoft Assessment and Planning Toolkit 4.0 Assessment Details (คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาด)
ตอนที่คุณรันเครื่องมือตัวนี้ คุณไม่จำเป็นต้องไปกำหนดกฏเกณฑ์อะไรกับฮาร์ดแวร์ที่ต้องใช้มากครับ ผมเองเขียนบทความนี้ครั้งแรก โดยรันระบบ Windows 7 และ Office 2007 บนเครื่องเดสก์ท๊อป Celeron ความถี่ 1.6 GHz ใช้ RAM ขนาด 512 MB และยังมีแอพพลิเคชั่นทำงานข้างหลังอีกเพียบ แต่ความแรงในการประมวลผลก็เป็นที่ยอมรับได้ ต่อจากนั้นก็ลงโปรแกรม Application Compatibility Toolkit (ACT) 5.5 ซึ่งหาดาวโหลดได้จาก tinyurl.com/appcompat55 และใช้โปรแกรมตัวนี้ในการทำสถิติซอฟต์แวร์บนเครื่องเดสก์ท๊อปของคุณ การประเมินของโปรแกรม ACT นั้นไม่ได้ดูโปรแกรมจากในแค่รีจิสทรี เท่านั้น แต่มันยังเข้าไปรวบรวมข้อมูลแอพพลิเคชั่นที่หลบซ่อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากการลงด้วยโปรแกรมลงแบบเก่า ๆ ในเครื่องอย่างละเอียด การทำงานเช่นนี้ต้องอาศัยโปรแกรม Agent บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเริ่มต้นทำงานจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้จัดการโปรแกรม ACT และจะคอยส่งรายงานกลับมาเป็นระยะ ๆ เป็นเวลาหลายวันก่อนที่มันจะถอดตัวเองออกจากเครื่องเอง ดูในรูปที่ 5 เป็นตัวอย่าง โปรแกรม ACT นั้นจะตามเก็บข้อมูลอย่างละเอียดถี่ยิบจริง ๆ ดังนั้น คุณจึงต้องใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่มีกำลังสูงพอสมควรในการรันโปรแกรมตัวนี้ นอกจากนั้น คุณยังสามารถเก็บข้อมูลนั้นไว้ใน SQL Express ได้ด้วย นอกจากว่าคุณจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์สุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,000 เครื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณต้องการรวบรวมรายชื่อซอฟต์แวร์ไล่ไปจนถึงระดับแผนกและทีมแต่ละทีม คุณสามารถเลือกเพียงแค่สองสามเครื่องในแผนกนั้นมาทำเป็นเครื่องสุ่มตัวอย่างได้ แม้องค์กรของคุณจะมีเครื่องเดสก์ท๊อปเป็นหมื่นหรือแสนเครื่องก็ตาม คุณก็ควรจะสุ่มตัวอย่างเก็บข้อมูลเป็นจำนวนสักร้อยละ 2 หรือ 3 ของจำนวนเครื่องทั้งหมด
Windows 7 : Microsoft Application Compatibility Toolkit 5.5 Application Report
รูปที่ 5 Microsoft Application Compatibility Toolkit 5.5 Application Report (คลิกที่ภาพเพื่อขยายขนาด)
กลับไปคุยเรื่องการประชุมครั้งสำคัญของเราต่อดีกว่า คุณควรจัดงานให้เหมาะสม ใช้งบแผนกของคุณซื้อโดนัทและพิซซ่ามาเลี้ยงกันให้อิ่มหนำสำราญ หาห้องที่มีกระดานไวท์บอร์ดรอบห้อง ถ้ามีผู้ร่วมประชุมบางคนที่ไม่สามารถเข้ามาร่วมประชุมได้ คุณควรติดตั้งจอขนาดใหญ่หลาย ๆ จอในห้องประชุม ติดตั้งซอฟต์แวร์การประชุมแรง ๆ และเตรียมไมโครโฟนและกล้องไว้ให้ทั่ว
ครึ่งแรกของการประชุม คุณควรถามผู้เข้าร่วมประชุมว่า ระบบ Windows 7 ช่วยพัฒนาการทำงานประจำวันของพวกเขาอย่างไรบ้าง ลองถามไถ่ดูสิครับว่า ทำไมพวกเขาจึงใช้เวลาเรียนรู้นานกว่าที่วางแผนไว้ ลองรับฟังเสียงบ่นของพวกเขาดู ประหนึ่งเหมือนเดินเข้าไปในสมองพวกเขาเพื่อมองหาความรู้และการผสมผสานฟังก์ชันต่าง ๆ ที่พวกเขาคิดมาได้ เพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตของผู้ใช้งาน เพิ่มความปลอดภัย สนับสนุนระบบเคลื่อนที่ และทำให้กระบวนการการทำงานนั้นง่ายขึ้น
ส่วนครึ่งหลังของการประชุม คุณควรใช้เป็นช่วงการวางแผนการลงระบบ อย่าใช้ช่วงนี้ในการเสาะแสวงหาวิธีที่จะมาแก้ปัญหาด้านการทำงานร่วมกันกับระบบเก่าหรือกระบวนการการทำงานต่าง ๆ องค์กรใดก็ตามที่ใช้ระบบ XP มานานไปหน่อย การอัพเดตกระบวนการทำงานนั้นอาจจะมีสิ่งขัด ๆ เกิดขึ้นบ้าง คุณควรระบุปัญหา จัดประเภทของปัญหานั้น และข้ามไปคุยเรื่องอื่นต่อไป
ลองสมมติว่าตัวคุณเองเป็นนักธรณีวิทยาที่กำลังทดลองขุดเจาะบ่อน้ำมันใหม่ดูสิครับ คุณควรมองหาบ่อน้ำมันใหญ่ ๆ แล้วค่อยดูดน้ำมันขึ้นมาตอนหลัง
ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมนั้นควรจะออกมาใน Roadmap ที่บอกว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่และอย่างไรบ้าง นอกจากนั้น มันยังช่วยบอกถึงปัญหาอย่างเช่น คุณต้องการลงระบบในส่วนของฟังก์ชันใดบ้าง ใครที่เป็นคนต้องเตรียมงาน ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด คุณต้องใช้วิธีการอย่างไรเพื่อให้ผู้ใช้งานร่วมมือกับคุณ ค่าใช้จ่ายในการลงระบบเท่าไหร่ทั้งที่เป็นงบประมาณจริง ๆ และที่คิดขึ้นมา จุดไหนที่อาจจะเป็นจุดที่ล้มเหลวของโครงการได้ คุณต้องการทรัพยากรใดบ้างในการทดสอบระบบ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะต้องเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ คุณควรสรุปประเด็นทั้งหมดนี้ลงในสไลด์เพียงแค่ 5 สไลด์พอ และนำเสนอแก่ผู้บริหาร และหลังจากนั้นถึงลุยดำเนินการอย่างมุ่งมั่น

5. ขยายขอบเขตการลงระบบ

ฟังก์ชันที่ดีที่สุดบางฟังก์ชันในระบบ Windows 7 นั้นอาจจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนในโครงสร้างพื้นฐานของคุณบ้าง ตัวอย่างเช่น ฟังก์ชันโปรดที่สุดฟังก์ชันหนึ่งของผมใน Windows 7 คือ Federated Search และ Libraries ในเชลล์ Explorer ฟังก์ชันนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลที่อยู่กระจัดกระจายในมุมที่รวมข้อมูลนั้นไว้ตรงกลางและยืดหยุ่น
จุดหลักในการใช้งาน Federated Search คือการหาหรือการสร้าง Connector กับที่เก็บข้อมูลที่รันบนระบบเว็บ Connector คือกลุ่มตัวแปรการตั้งค่าในไฟล์นามสกุล .OSDX ตัวแปรเหล่านี้จะชี้ไปที่เว็บไซต์และอธิบายต้องทำอย่างไรกับเนื้อหาบ้าง ต่อไปนี้คือตัวอย่างของ Bing Connector
<?xml version="1.0" encoding="UTF-8"?>
<OpenSearchDescription xmlns="http://a9.com/-/spec/opensearch/1.1/"
xmlns:ms-ose="http://schemas.microsoft.com/opensearchext/2009/">
 
<ShortName>Bing</ShortName>
 
<Description>Bing in Windows 7.</Description>
 
<Url type="application/rss+xml" 
template="http://api.bing.com/rss.aspx?source=web&amp;query=
{searchTerms}&amp;format=rss"/>
 
<Url type="text/html" template="http://www.bing.com/search?q={searchTerms}"/>
 
</OpenSearchDescription>
เมื่อคุณคลิกขวาที่ไฟล์ .OSDX ในหน้าจอ Explorer จะแสดงตัวเลือกให้คุณสร้าง Connector หรือ Create Search Connector ในเมนู Property เมื่อคลิกที่ตัวเลือกนี้ Connector ตัวใหม่ปรากฏที่รายการตัวต่อใต้ Favorites เริ่มต้นค้นหาข้อมูล Connector ด้วยการเอาเมาส์ไฮไลท์ตัวที่ต้องการหา และพิมพ์ข้อความลงไปในช่องค้นหาที่อยู่ด้านบนขวาของหน้าจอ Explorer อีกไม่กี่วินาทีต่อมา ผลการหาก็จะปรากฏในฝั่งหนึ่ง ถ้าคุณต้องการดูเนื้อหาของหน้าไหน ก็ให้คลิกปุ่ม Preview ดูที่หน้านั้นได้ ดูรูปที่ 6 ประกอบ
Windows 7 : Search Connector in Explorer
รูปที่ 6 Search Connector in Explorer (คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาด)
การสร้างตัว Connector นั้นไม่ใช่งานยากเย็นอะไร พยายามเกลี้ยกล่อมให้นักพัฒนาระบบของคุณสร้างขึ้นมาใช้งานในเซิร์ฟเวอร์อินทราเน็ต (พอร์ทัลขององค์กร เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในโปรแกรม ShaprePoint และอื่น ๆ อีกมากมาย) ชี้เครื่องไปที่ตัวอย่าง Connector ที่มีอยู่มากมายใน SevenForums (tinyurl.com/srchcon) ซึ่งเป็นเว็บไซต์อิสระที่มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับระบบ Windows 7 กระจายตัว Connector ไปไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานโดยใช้เครื่องมือมาตรฐานที่มากับโปรแกรม หลังจากนั้น คุณจึงใช้ตัว Connector สร้างภาพมาตรฐานของข้อมูลเว็บที่กระจายตามเครื่องคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ได้
แม้ว่า Federated Search จะใช้จัดการข้อมูลเว็บไซต์ได้ดีพอ แต่องค์กรหลายแห่งก็ต้องทนนั่งหาข้อมูลจากกองข้อมูลหลายเทราไบต์ที่อยู่บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่รวบรวมข้อมูลมาได้ ซึ่งตรงนี้หมายความว่า ผู้ใช้งานที่ไม่คุ้นเคยกับการ Map ไดรฟ์และการเก็บข้อมูลระบบเครือข่ายนั้น อาจจะต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการค้นหาข้อมูลในไดรฟ์เน็ตเวิร์กของพวกเขา เพื่อหาข้อมูลอย่างเช่น รายงานที่พวกเขาเขียนเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นต้น
ถึงตรงนี้ล่ะครับ เราสามารถใช้งาน Libraries มาช่วยเราได้ โดยที่ Libraries จะรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งให้กลายมาเป็น Object ที่คุณสามารถหาข้อมูลได้โดยง่าย Libraries พื้นฐานที่ Windows 7 เตรียมไว้ให้จะประกอบไปด้วยชนิดข้อมูลส่วนตัวและส่วนที่ใช้เก็บ ทั้งเอกสาร เพลง รูปภาพ และวิดีโอ และคุณสามารถขยาย Libraries นั้นไปครอบคลุมถึงส่วนที่เก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ได้ด้วย เพียงคุณแค่คลิกขวาและเลือก New Library และใส่ path ของ UNC ไปที่ส่วนของแชร์โฟลเดอร์
แต่มีข้อแม้อย่างหนึ่ง กล่าวคือ คุณต้องทำ Index ในโฟลเดอร์ที่หาด้วย ในระบบ Windows Server 2008 หรือสูงกว่านั้น คุณต้องลง File Services Roles และตรงใต้ Role Services จะต้องลง Windows Search Service ส่วนในเซิร์ฟเวอร์ที่ระบบ Windows Server 2003 SP2 คุณจะต้องลงโปรแกรม Windows Search 4.0 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่หาดาวโหลดได้ฟรีจาก tinyurl.com/srch40dwnload นอกเหนือจากนั้น เนื่องจากหน้าจอ Search มีข้อจำกัด คุณจะไม่สามารถระบุ Path ของ DFS ได้ ต่อให้ข้อมูลโฟลเดอร์ DFS นั้นเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่เก็บไฟล์ที่มีการทำ Index ไว้แล้วก็ตามที
การสร้าง Libraries ไม่สามารถทำผ่านหน้าจอป้อนคำสั่งได้ และขณะที่ผมเขียนบทความนี้ คุณไม่สามารถสร้างผ่าน PowerShell cmdlets ด้วยเช่นกัน ในแพ็คเกจ Windows 7 SDK นั้นจะรวมเครื่องมือที่ใช้เขียนโปรแกรมจัดการ Libraries ด้วย เพราะฉะนั้นในอนาคต ต้องมีเครื่องมือใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนครับ จับตาดูให้ดีละกันครับ
อ้อ ข้อควรสังเกตอย่างหนึ่งของการทำงานของ Libraries ครับ นั่นคือ ในหน้าจอ Explorer นั้นจะมีหน้าจอ Common File ที่จะเอื้อให้ผู้ใช้เก็บไฟล์ไว้ใน Libraries ได้โดยการลากและปล่อยใน Libraries ถ้าใน Libraries ของคุณมีลิงค์หลายลิงค์อยู่ในนั้น คุณต้องระบุเสียก่อนว่าตัวไหนจะเป็นลิงค์ Default

6. เตรียมตัวสำหรับระบบความปลอดภัยแบบกระจายตัว (distributed security)

ในช่วงการประชุมกลยุทธ์ครั้งแรกของคุณ คุณควรเจียดเวลาสักช่วงหนึ่งในการถกเถียงการจัดการระบบรักษาความปลอดภัยแบบกระจายในระบบ Windows 7 คุณควรจะต้องกำหนดสิ่งที่คุณควรต้องทำตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำโครงการ เพราะมันจะมีผลกับการออกแบบการทดสอบระบบของคุณในภายหลังอย่างมาก
อย่างแรกเลยก็คือ คุณควรต้องตัดสินใจก่อนว่า คุณอยากเปิดไฟร์วอลล์บนเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท๊อปหรือไม่ ตอนที่ระบบ Windows XP SP1 ออกมาพร้อมกับระบบไฟร์วอลล์บนเดสก์ท๊อปครั้งแรกนั้น ส่วนใหญ่องค์กรทั่วไปก็มักจะปิดไฟร์วอลล์นั้นและไม่เปิดขึ้นมาใช้งานอีกเลย แต่ระบบไฟร์วอลล์ที่มากับระบบ Windows 7 นั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่าและทำให้คุณต้องกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง คุณสามารถปิดไฟร์วอลล์บนเครื่องขณะที่เครื่องนั้นต่ออยู่ที่โดเมน และสามารถเปิดอีกครั้งเมื่อคุณเอาเครื่องกลับบ้านและต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือระบบเครือข่ายที่บ้านของคุณเอง คุณยังสามารถระบุได้ว่าจะเอาส่วนไหนออกได้ด้วย ลองเล่นและทดลองเปิดไฟร์วอลล์ตัวใหม่นี้กับกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มแรกดูครับ รับฟังผลตอบรับจากพวกเขา พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากทีมดูแลระบบรักษาความปลอดภัยด้วย เพื่อคุณจะได้ตัดสินใจว่าคุณจะตั้งค่าในระบบไฟร์วอลล์ของคุณอย่างไรตอนใช้งานจริง นอกจากนั้น คุณยังใช้ Group Policy ในการกำหนดค่าไฟร์วอลล์นี้ได้ด้วยนะครับ
อย่างที่สอง คุณต้องตัดสินใจว่าคุณอยากใช้โปรแกรม AppLocker มากำหนดหรือไม่ว่าจะให้แอพพลิเคชั่นใดบ้างรันบนเครื่องเดสก์ท๊อปของคุณ โปรแกรม AppLocker จะเปิดที่ให้คุณได้สร้างรายชื่อของโปรแกรมที่ได้รับอนุญาตให้รันบนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือ Whitelist คุณสามารถเลือกทีละไฟล์หรือเลือกเป็นกลุ่มไฟล์โดยใช้เกณฑ์จากที่เก็บไฟล์หรือคนที่ตีพิมพ์ไฟล์นั้น (ที่เซ็นโดย Certificate ของคนที่ตีพิมพ์นั่นเอง) เมื่อคุณตั้งค่าในโปรแกรมนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว กฎต่าง ๆ จะโดนดาวโหลดไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ลงระบบ Windows 7 และมีเซอร์วิส Application Identity หลังจากนั้น แอพพลิเคชั่นที่อยู่ใน Whitelist เท่านั้นที่จะสามารถรันบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ โปรแกรมอื่น ๆ นั้นจะเหมือนโดนให้นั่งอยู่นอกเครื่อง เหมือนกับที่ผมโดนให้นั่งอยู่ข้างสนามตอนที่เรียนฟุตบอลในสมัยมัธยมยังไงยังงั้นเลยล่ะครับ
เนื่องจากกฎใน AppLocker นั้นทำผ่านทาง Group Policy คุณสามารถผูกกฎหรือ Rules นั้นโดยอิงจาก OU กลุ่มผู้ใช้งานและตัวกรอง WMI
การมานั่งเลือกว่าจะรวมแอพพลิเคชั่นตัวใดบ้างใน Whitelist โดยเลือกจากกองแอพพลิเคชั่นนั้นอาจฟังดูเป็นงานที่ไม่ค่อยสนุกนักนะครับ แต่มันก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นครับ ส่วนใหญ่เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้หน้างานนั้นมีแอพพลิเคชั่นลงไม่มากนัก คุณควรเริ่มลงมือจากตรงนั้น จะว่าไปแล้ว ถ้าคุณสามารถป้องกันไม่ให้พนักงานกะดึกเสียบ Thumb drive และเล่นเกมบนเครื่องคอมพิวเตอร์แทนที่จะเอาเวลามานั่งสร้าง Widget แค่นี้คุณก็แก้ปัญหาการปฏิบัติงานไปได้บ้างแล้วครับ แล้วค่อยไปจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็น Back office ตอนหลังครับ
ท้ายที่สุดแล้ว คุณต้องการที่จะเข้ารหัสข้อมูลให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์และ Thumb drive ของคุณหรือไม่ ถ้าผู้บริหาร ผู้จัดการ และพนักงานที่ทำงานกับข้อมูลสำคัญต่อองค์กรของคุณบางครั้งต้องเซฟข้อมูลความรู้ขององค์กรไปทำงานที่บ้าน ดังนั้น คำตอบของคำถามข้อนี้ก็คือ ต้องการ โปรแกรม BitLocker จะให้คุณเข้ารหัสฮาร์ดไดรฟ์และข้อมูลที่อยู่ในนั้นทั้งหมด โปรแกรม BitLocker To Go จะเปิดโอกาสให้คุณเข้ารหัสข้อมูลไปถึงไดรฟ์แบบเสียบและอุปกรณ์ต่อตัวอื่น ๆ คุณควรจะต้องลงโปรแกรมนี้ด้วยเช่นกันครับ
แต่กระนั้น ผมก็ไม่ได้บอกให้คุณแค่ตั้งนโยบายใช้โปรแกรม BitLocker ผ่าน Group Policy และเข้ารหัสอุปกรณ์ทุกชนิด แล้วก็จบแค่นั้น แต่คุณควรจะต้องคำนึงถึงทางเลือกต่าง ๆ เหมือนกับเทคโนโลยีการเข้ารหัสตัวอื่น ๆ อย่ากลายเป็นคนที่ใคร ๆ ก็กล่าวขวัญถึงเลยนะครับ เราคงเคยได้ยินเรื่อง “จำเรื่องที่ซีอีโอเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวเองไม่ได้ก่อนที่จะเข้าประชุมประจำปี และ(ชื่อคุณ) ก็หา enterprise recovery key ไม่ทันน่ะ จำได้ไหม” ดังนั้น จึงจะเป็นการดีทีเดียวที่จะคุณจะดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัสข้อมูลระดับองค์กรและการลงโปรแกรม BitLocker แต่หลักสำคัญคือ อย่าปล่อยให้ความยุ่งยากมาทำให้คุณกลัว เพราะเหตุการณ์อื่นที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นน่ากลัวกว่านี้อีกครับ จะว่าไป เรื่องราวที่ตามมาอาจจะเป็นว่า “จำตอนที่เราทำงานบริษัทนั้นได้ไหม ก่อนที่กลุ่มอาชญากรจะมาล้วงความลับในคอมพิวเตอร์ของซีเอฟโอไปจนหมดน่ะ”

7. ทำเครื่องเดสก์ท๊อปเสมือน

ลองนึกภาพดูสิครับ คุณใช้เวลาสองสามอาทิตย์ บางทีอาจะเป็นเดือนออกแบบไฟล์อิมเมจของระบบ Windows 7 ที่คุณจะลงบนเครื่องเดสก์ท๊อปที่คุณดูแลอยู่ คุณทำงานอย่างหนักเพื่อจะแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิค และคุณก็ค้นพบวิธีที่จะย้ายแอพพลิเคชั่นและข้อมูลข้ามเครื่อง ทำให้ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการ Migration (User State Migration Tool ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Automated Installation Kit เป็นเครื่องมือเริ่มต้นที่ดีมากตัวหนึ่ง ถ้าคุณต้องการ Migrate ข้อมูล ลองไปที่ tinyurl.com/usmtwt เพื่อดูวิดีโอตัวอย่าง) ช่างเทคนิคของคุณได้รับการอบรมมาอย่างดี ทีม Help-desk ของคุณอ่านคู่มือที่คุณโพสต์ไว้ที่เว็บไซต์ SharePoint หมดแล้ว คุณพร้อมที่จะลงมือลงระบบเต็มที่แล้ว
แต่ช้าก่อน แทนที่คุณจะลงระบบปฏิบัติการไปที่ฮาร์ดไดรฟ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์เลย ระบบวินโดวส์ 7 สามารถให้คุณลงระบบปฏิบัติการที่ฮาร์ดไดรฟ์เสมือน หรือ Virtual Hard Drive (VHD) บนฮาร์ดไดรฟ์ได้ เวลาที่บูท เครื่องจะบูทจากฮาร์ดไดรฟ์เสมือนนี้ ซึ่งจะกลายเป็นไดรฟ์ C และจะเห็นเหมือนเป็นไดรฟ์จริง ๆ เหมือนไดรฟ์ D ถ้าคุณวางแผนดี ๆ ฮาร์ดไดรฟ์ประเภทนี้จะสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายมาก ถ้าสมศักดิ์ย้ายงานจากกรุงเทพฯไปอยู่เชียงใหม่ ช่างคอมพิวเตอร์สามารถคัดลอก VHD ที่ไซต์กรุงเทพฯ วางไว้บนระบบเครือข่าย เพื่อให้ช่างคอมพิวเตอร์ที่เชียงใหม่คัดลอกและลงไปที่เครื่องที่ตั้งที่เชียงใหม่ คุณสมศักดิ์จะได้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีสภาพแวดล้อมที่เขาคุ้นเคยทันทีที่เขาเดินลงจากเครื่องบินเลยครับ
ถ้าคุณคิดว่า การทำเช่นนี้จะทำให้เครื่องทำงานช้าลง คุณก็คิดผิดแล้วครับ ลองไปดูสถิติ I/O ที่บล็อกของทีมที่สร้างระบบเสมือนได้ที่ tinyurl.com/nativevhd ได้เลยครับ
แต่กระนั้น VHD ก็ยังมีสิ่งที่ต้องระวังบ้างนะครับ อย่างแรกเลยก็คือ โหมดทำงาน Hibernation ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานได้กับเครื่องที่มี VHD นั่นทำให้คุณไม่อยากใช้ VHD กับเครื่องโน้ตบุ๊คทั้งหมดเลย คุณไม่สามารถบูทหา VHD บนไดรฟ์ที่มีการเข้ารหัสด้วย BitLocker ซึ่งจุดนี้นี่เองก็จะทำให้ VHD ดูไม่น่าใช้งานเลยบนเครื่องโน้ตบุ๊ค
ความยุ่งยากในการใช้ VHD อาจจะยุ่งยากไม่ใช่น้อยและดูไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย แต่คุณก็ควรจะรวมเอา VHD ในแผนทดสอบของคุณด้วย ขั้นตอนในการทดสอบฮาร์ดไดรฟ์หลอก ๆ นี้อาจยาวเกินไปสำหรับบทความนี้ครับ แต่ผมจะบอกที่ที่คุณสามารถไปดูรายละเอียดขั้นตอนให้ครับ คุณสามารถใช้วิธีการของแม็กซ์ นอร์ได้ โดยไปดูที่tinyurl.com/win7bootvhdnativinstall ซึ่งก็จะบอกว่าให้บูทจากซีดีที่ใช้ลงระบบ Windows 7 ออกไปที่หน้าจอป้อนคำสั่ง สร้าง VHD ขึ้นมาและใช้มันเป็น Target ในการลงระบบ ซึ่งง่ายมาก ๆ คุณยังสามารถอ่านขั้นตอนโดยละเอียดที่เขียนลงเว็บไซต์ TechNet ที่ tinyurl.com/win7bootvhdwt หรือหาดาวโหลดวิดีโอของ TechNet ดูได้จากtinyurl.com/win7bootvhdvid
เมื่อคุณเริ่มคล่องแคล่วกับเทคนิคพวกนี้แล้วนะครับ ลองไปดูคำแนะนำของไคล์ โรเซนธาลที่บล็อก Vista PC Guy ไคล์ให้คำแนะนำในการสร้างอิมเมจจากเครื่องมือของ WinPE ตัวอย่างเช่น ขั้นตอนที่นำเสนอใน vistapcguy.net/?p=71 แจงรายละเอียดที่ทำให้คุณสามารถบูทจาก Thumb drive จากเครื่องมือ WinPE และสร้างอิมเมจของโปรแกรมลงระบบและเก็บไว้ในนั้น ถ้าคุณสามารถทำได้แล้วละก็ คุณสามารถลงอิมเมจมาตรฐานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ โดยที่คุณไม่ต้องอาศัยแผ่นดิสก์พลาสติกนั่นเลยด้วยซ้ำ

8. ประเมินฟังก์ชันต่าง ๆ ของเวอร์ชั่นเอ็นเตอร์ไพรซ์

ฟังก์ชันการบูท VHD รวมทั้งโปรแกรม BitLocker และ AppLocker เป็นฟังก์ชันที่เป็นส่วนหนึ่งของ Windows 7 Enterprise หรือ Ultimate แต่สำหรับเวอร์ชั่น Enterprise SKU นั้นสามารถหาซื้อได้พร้อมกับ Volume license agreement เท่านั้น ถ้าคุณซื้อเวอร์ชั่น Enterprise หรือ Ultimate คุณควรพิจารณาฟังก์ชันเสริมบางตัว เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปได้ราบรื่นขึ้น
โปรแกรม BranchCache เอื้อให้คุณสามารถเก็บไฟล์ที่ส่งไว้ที่เซิร์ฟเวอร์กลางที่สำนักงานประจำสาขา หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย Peer ของเครื่องเดสก์ท๊อป เมื่อมีผู้ใช้งานคนหนึ่งส่งไฟล์ข้อมูล เครื่องจะตรวจสอบก่อนว่าไฟล์นั้นมีการเก็บไว้ที่เครื่องหรือเปล่า หรือผลการคำนวณโดยใช้ฟังก์ชัน Hash ของไฟล์ตรงกับแหล่งที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ถ้าใช่ เครื่องจะคัดลอกไฟล์จากทีเก็บไว้ที่แคชมา นี่จะเป็นการเพิ่มความเร็วในการส่งไฟล์ และยังจะช่วยลดโหลดของระบบเครือข่าย WAN ด้วย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ดูแลระบบเครือข่าย (พวกเขายิ้มเป็นครับ ผมเคยเห็น) ผมแนะนำให้คุณลองใช้โปรแกรม BranchCache ในการทดสอบครั้งแรกของคุณ เพื่อประเมินว่ามันช่วยเรื่องทราฟิคที่แอพพลิเคชั่นของคุณใช้หรือไม่
ต่อมา คุณสามารถยกระดับแอพพลิเคชั่นที่เป็นเหมือนระบบลูกครึ่งเสมือนที่ผมกล่าวถึงเมื่อข้อที่แล้วนะครับให้กลายเป็นระบบเสมือนที่แท้จริง โดยการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเดสก์ท๊อปแบบเสมือน หรือ VDI บนเซิร์ฟเวอร์ที่ลงระบบ Windows Server 2008 R2 ในโครงสร้างแบบ VDI เซสชั่นของเครื่องเดสก์ท๊อปแต่ละเครื่องจะเหมือนเป็นเครื่องเสมือนหนึ่งเครื่องและผู้ใช้งานสามารถต่อได้ผ่านทาง RDP การติดตั้งแบบนี้จะตรงกันข้ามกับการติดตั้งเครื่องเดสก์ท๊อปแบบ Terminal Service ทั่ว ๆ ไป ถ้าใครคนใดคนหนึ่งทำให้ระบบรวน คนอื่นก็จะกระทบไปด้วย คุณเคยดูหนังเรื่อง Caddyshack มั้ยครับ เป็นแบบนั้นเลยล่ะครับ (คุณสามารถหลีกเลี่ยงการตีกันแบบนี้ได้ในเซิร์ฟเวอร์ของเทอร์มินัลโดยการทำให้แอพพลิเคชั่นเป็นแอพพลิเคชั่นเสมือน ลองไปดูโปรแกรม App-V ใน Microsoft Desktop Optimization Pack ดู)
โครงสร้าง VDI อาจจะแพงไปสักหน่อย ค่าใช้จ่ายในการซัพพอร์ตเครื่องเดสก์ท๊อปแบบเสมือนของผู้ใช้งานพร้อมกับหน่วยความจำที่พร้อมสมบูรณ์และต่อเข้ากับระบบเครือข่าย ทั้งหมดนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าค่าใช้จ่ายของเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าคุณต้องให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบกระจายตัวกลับมาทำงานได้ไวหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์อะไรขึ้น โครงสร้าง VDI ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดได้เลย
ฟังก์ชันอีกตัวในเวอร์ชั่น Enterprise คือ โปรแกรม DirectAccess ที่จะเอื้อให้ผู้ใช้งานได้ต่อผ่านเกตเวย์ของระบบ Windows Server 2008 R2 ไปที่ระบบเครือข่ายขององค์กรโดยที่ไม่ต้องพึ่ง VPN เลย ผู้ใช้งานที่มีเครื่องโน้ตบุ๊คที่สนับสนุนเทคโนโลยี EVDO สามารถเปิดเครื่องขณะที่นั่งอยู่ในสนามบิน และเปิดดูเอกสารที่เก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ขององค์กรได้เลย แต่กระนั้น การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ คุณอาจต้องเกลี้ยกล่อมทีมงานผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยสักหน่อยครับ

9. สร้างการรับประกันว่าระบบใหม่จะใช้งานร่วมกับระบบเก่าได้

อีกหนึ่งประเด็นที่คุณควรจะถกเถียงกันในงานประชุมระดมสมองครั้งสำคัญของคุณควรพูดถึงความพร้อมที่องค์กรของคุณจะลงระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิต เครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ ที่จะเริ่มลงระบบในช่วง Refresh นั้นควรจะรองรับการทำงานแบบ 64 บิต ในคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในการดูแลของคุณนั้นน่าจะมี RAM อย่างน้อย 2GB อยู่แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ RAM ราคาถูกมาก คุณสามารถเพิ่มให้เป็น 4GB เลยก็ได้นะครับ ถ้าคุณสามารถไปตะล่อมแผนกการเงินได้ เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้น่าจะมี Processor เป็นแบบ Dual-core หรือไม่ก็ Quad-core เลยด้วยซ้ำไปครับ และมีหน่วยความจำในส่วนของวิดีโอที่รองรับการทำงานของโปรแกรม Aero เครื่องที่มีลักษณะแบบนี้สามารถทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิตได้ครับ
ถึงแม้ว่าระบบหน้างานและโปรแกรมทั่ว ๆ ไปนั้นยังเป็นแบบ 32 บิตอยู่ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่คุณควรจะลงระบบ Windows 7 แบบ 64 บิต อย่างน้อยก็เพื่อทำให้การลงทุนคุ้มค่าในอนาคต เห็นได้ชัดว่าตอนนี้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าเข้าระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิต และคุณก็ควรเตรียมพร้อมเมื่อผู้ค้าซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เริ่มต้นทำ Backward capability นะครับ
ถ้าคุณตัดสินใจจะลงระบบปฏิบัติการแบบ 64 บิต คุณควรทดสอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับไดรฟ์เวอร์ของอุปกรณ์ โปรแกรมแอนตี้ไวรัส โปรแกรม Agent จัดการต่าง ๆ และอื่นอีกมากมาย ถ้าตอนนี้คุณใช้เซิร์ฟเวอร์เครื่องพิมพ์แบบ 32 บิต คุณควรต้องจัดการคิวด้วยไดรฟ์เวอร์แบบ 64 บิต หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ คุณสามารถลงระบบ Windows Server 2008 แบบ 64 บิตและ R2 ได้ทั้งคู่ แล้วค่อยจัดการคิวด้วยไดรฟ์เวอร์แบบ 64 บิต โปรแกรมวิซาร์ดที่ใช้ในการ Migrate เครื่องพิมพ์ที่มากับระบบ Windows Server 2008 R2 สามารถช่วยคุณจัดการเรื่องนี้ได้ ก็คุ้มค่าอยู่พอควรนะครับที่คุณจะลงเซิร์ฟเวอร์พิมพ์แบบ R2 ตัวใหม่ เพราะโครงสร้างการพิมพ์แบบตัวใหม่นี้จะเก็บโปรแกรม Driver ไว้ในที่ว่างของหน่วยความจำ เพื่อที่ว่าไดรฟ์เวอร์ตัวที่ไม่ดีจะได้ไม่มาทำให้ Spooler ล่มไงล่ะครับ
แต่การทำเช่นนี้มีข้อเสียสุด ๆ อย่างหนึ่งครับ นั่นคือ คุณต้องรันแอพพลิเคชั่นแบบ 16 บิต ซึ่งจะไม่สามารถรันที่โฮสต์แบบ 64 บิต ทางออกที่ดีที่สุด คือ การเลียนแบบวิธีการที่ชาวนาในรัฐมินนิโซต้าใช้เพื่อปลูกต้นมะเขือเทศครับ ซึ่งก็คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่หลอกให้พวกพืชคิดว่า พวกมันโตอยู่ในเมืองดัลลัสไม่ใช่อยู่ในเมืองดูลูธ เฉกเช่นเดียวกัน คุณเข้าไปที่โหมดของ XP เพื่อสร้าง Instance ของระบบ XP SP3 แบบ x86 บนเครื่องที่ลงระบบ Windows 7 แบบ x64
แอพพลิเคชั่นที่ลงในเครื่องเสมือนในโหมด XP นั้นสามารถเปิดใช้งานได้จากเมนู Start ของระบบ Windows 7 (ดูรูปที่ 7 ประกอบ) ทำให้ดูเหมือนกับว่าเป็นโปรแกรมหนึ่งที่ลงปกติ จะได้ไม่ทำให้ผู้ใช้งานสับสนนะครับ (วิธีการแบบนี้เราได้มาจากการลง RAIL hotfix แบบพิเศษ ไม่ใช่มาจากโหมด XP ปกติ ดังนั้น ถ้าหากคุณใช้ RAIL hotfix คุณสามารถลงเครื่อง Windows Vista แบบ 32 บิต และ Windows 7 แบบ 32 บิต ได้ด้วยถ้าคุณต้องการ)
Windows 7 : แอพพลิเคชั่นโหมด XP ที่ลิสต์ไว้ในเมนู Start
รูปที่ 7 แอพพลิเคชั่นโหมด XP ที่ลิสต์ไว้ในเมนู Start
โดยพื้นฐานแล้ว เครื่องเสมือนโหมด XP จะรันภายใต้ชื่อผู้ใช้งานชื่อหนึ่งในเครื่องเสมือนนั้น ชื่อผู้ใช้งานที่ว่านี้คือ User คุณสามารถตั้งรหัสผ่านให้กับชื่อผู้ใช้งานนี้ได้และจะไม่มีวันหมดอายุ อีกทางเลือกหนึ่งคือ คุณสามารถเปิดเครื่องเสมือนและเชื่อมมันเข้ากับโดเมน และใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโดเมนในการเข้าระบบ คุณยังสามารถโหลดโปรแกรม Exchange 2003 ESM ไปที่โหมด XP พร้อมกับเครื่องมือจัดการระบบแบบเดิม ๆ เพื่อที่คุณจะได้มีสภาวะแวดล้อมแบบเดิมในการจัดการระบบ อ้อ ผมลืมบอกไปอีกอย่างครับว่า คุณสามารถ ตัด และ วาง เครื่องโฮสต์กับเครื่องเสมือนได้ด้วย แจ๋วไปเลยครับ
โหมด XP ต้องการฮาร์ดแวร์ที่สร้างเสมือนไว้ ไม่ว่าจะเป็นแบบ Intel VT หรือ AMD-V สตีฟ กิบสัน แห่ง Laguna Hills ซึ่งเป็นเครือบริษัท Gibson Research ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (มีชื่อเสียงจาก SpinRIte และ ShieldsUP!) มีโปรแกรมยูทิลลิตี้ตัวใหม่มานำเสนอนั่นคือ SecurAble (grc.com/securable.htm) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะบอกคุณว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณนั้นตรงกับข้อกำหนดหรือไม่ ดูตัวอย่างรายงานของโปรแกรม SecurAble ในรูปที่ 8 ประกอบ
Windows 7 : รายงานของโปรแกรม SecurAble จาก Gibson Research Corp
รูปที่ 8 รายงานของโปรแกรม SecurAble จาก Gibson Research Corp.
ถ้าคุณมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นร้อย ๆ พัน ๆ เครื่อง คุณต้องมีแพ็คเกจที่จะจัดการเครื่องเหล่านี้จากส่วนกลาง เครื่องมือที่ว่านั้นคือ Microsoft Enterprise Desktop Virtualization (MED-V) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Microsoft Desktop Optimization Pack ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรม MED-V 2.0 ทำงานเหมือนกับโหมด XP โดยการลงเครื่องเสมือนและต้องมีฮาร์ดแวร์ที่ซัพพอร์ตระบบเสมือนด้วย ที่ระบบด้านหลัง โปรแกรม MED-V มีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ไว้สร้างและวางแพ็คเกจไปที่เครื่องเสมือนต่าง ๆ ถ้าคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม คุณสามารถหาได้จากบล็อกของทีมที่พัฒนาระบบ Windows ที่ tinyurl.com/medvblog ครับ

10. ถอดสิทธิ์ local-admin จากผู้ใช้งานในระบบ

ถ้าคุณยังไม่ได้เริ่มถอดสิทธิ์ local-admin จากผู้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ ตอนนี้ถึงโอกาสแล้วครับ ใช่ครับ ผมทราบว่ามันเป็นงานที่ยากมาก โดยเฉพาะผู้ใช้งานเครื่องโน้ตบุ๊คที่ทำได้ยากหน่อย เพราะเวลาที่เกิดปัญหา ส่วนใหญ่ Help desk จะไม่สามารถเดินตามไปแก้ปัญหาที่เครื่องได้ แต่ส่วนใหญ่เรามักจะประสบปัญหาจากพวกที่ชอบตั้งตนเองขึ้นมาเป็นแผนกไอที ทำตัวเป็นผู้หยั่งรู้หรือไม่ก็อยากเป็นผู้ดูแลระบบ ซึ่งมักจะไปชอบหาแอพพลิเคชั่นที่มาใช้เสริมการทำงาน และใส่ไว้ใน Thumb drive แล้วเอามาแอบลงที่เครื่องที่ทำงานโดยที่ไม่คำนึงถึงการทดสอบการใช้งานเลยแม้แต่น้อย และอย่าให้ผมต้องพูดถึงโปรแกรมสารพัดประเภทที่ผู้ใช้งานธรรมดา ๆ สรรหามาลงเลยครับ ช่างประหลาดใจเหลือเกินที่ผู้ใช้งานที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ผู้ที่ไม่สามารถเปลี่ยนรหัสผ่านตัวเองได้เลยด้วยซ้ำนอกจากจะต้องให้ Help desk เปลี่ยนให้ แต่กลับหาทางลงโปรแกรมไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์หลายชั้นได้อย่างไม่เกิดปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าผลลัพธ์ของการลงโปรแกรมนั้นสามารถทำให้พวกเขาช้อปปิ้งหรือเล่นกีฬาได้นะครับ
ถึงแม้ว่าคุณสามารถยึดสิทธิ์ local-admin กลับมาไม่ให้ผู้ใช้งานมีได้ เมื่อคุณถอดได้สำเร็จ ไม่ทันไรเลย คุณก็ต้องใช้โปรแกรมเพิ่มขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่ใช้เขียนปกป้องส่วนของระบบไฟล์และรีจิสทรีนั้นคุณต้องใช้เยอะมากระบบ Windows 7 นั้นทำให้การเปลี่ยนไปทำงานของผู้ใช้งานปกตินั้นง่ายขึ้นมาก กระบวนการที่รันอยู่เบื้องหลังนั้นจะเปลี่ยนทิศทางของการบันทึกข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงให้ไม่ไปเขียนที่พื้นที่ที่โดนปกป้องไว้ แต่จะเขียนในที่ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานควบคุมได้ วิธีการทำงานแบบนี้นี่เองที่จะช่วยแก้ปัญหานานานัปการให้คุณ เวลาที่คุณต้องรันการทำงานมาตรฐานของผู้ใช้งานในระบบ XP นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาในเชิงฟังก์ชันงานที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาแต่ส่งผลประโยชน์มากมายมหาศาลแก่ผู้ใช้งานมาตรฐาน อย่างการที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนโซนเวลาได้เอง ซึ่งเป็นงานที่จะทำได้ถ้ามีสิทธิ์ Admin เท่านั้นในระบบ XP และ Vista แถมยังเปลี่ยนความละเอียดของภาพบนหน้าจอ ใช้คำสั่ง ipconfig /refresh ในการเซ็ตที่อยู่ DHCP ใหม่ และการเลือกลงโปรแกรมอัพเดตได้ด้วย
ระบบ Windows 7 นั้นทำให้การเปลี่ยนไปทำงานของผู้ใช้งานปกตินั้นง่ายขึ้นมาก กระบวนการที่รันอยู่เบื้องหลังนั้นจะเปลี่ยนทิศทางของการบันทึกข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงให้ไม่ไปเขียนที่พื้นที่ที่โดนปกป้องไว้ แต่จะเขียนในที่ที่ผู้ใช้งานสามารถใช้งานควบคุมได้ วิธีการทำงานแบบนี้นี่เองที่จะช่วยแก้ปัญหานานานัปการให้คุณ เวลาที่คุณต้องรันการทำงานมาตรฐานของผู้ใช้งานในระบบ XP นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาในเชิงฟังก์ชันงานที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาแต่ส่งผลประโยชน์มากมายมหาศาลแก่ผู้ใช้งานมาตรฐาน อย่างการที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนโซนเวลาได้เอง ซึ่งเป็นงานที่จะทำได้ถ้ามีสิทธิ์ Admin เท่านั้นในระบบ XP และ Vista แถมยังเปลี่ยนความละเอียดของภาพบนหน้าจอ ใช้คำสั่ง ipconfig /refresh ในการเซ็ตที่อยู่ DHCP ใหม่ และการเลือกลงโปรแกรมอัพเดตได้ด้วย
ใน Application Compatibility Toolkit (ACT) จะมีโปรแกรมวิซาร์ดชื่อว่า Standard User Analyzer (SUA) ที่จะช่วยให้คุณประเมินแอพพลิเคชั่นของคุณ โปรแกรม SUA จะยกระดับสิทธิ์ของผู้ใช้งานคุณให้ลงและรันแอพพลิเคชั่นได้ และในขณะที่มันกำลังทำการลงและรันนั้น โปรแกรม SUA จะย้ายไปดูแอพพลิเคชั่นคุณว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ถ้าจะรันแบบผู้ใช้งานมาตรฐาน เมื่อโปรแกรมเสร็จแล้ว คุณจะได้โปรแกรมที่สะอาดใหม่เอี่ยมอ่องและรายการปัญหาต่าง ๆ ที่คุณต้องแก้ไข
ตอนที่ดาวโหลดโปรแกรม ACT คุณควรจะดาวโหลดโปรแกรมตรวจสอบโปรแกรม (Application Verifier) จาก tinyurl.com/appverify เสียด้วยเลย โปรแกรมวิซาร์ด SUA จะใช้โปรแกรมตัวนี้แต่มันไม่ได้รวมมาในแพ็คเกจของ ACT คุณควรจะอ่านเอกสารการใช้งานโปรแกรม ACT 5.0 ด้วยนะครับ เอกสารนั้นจะเหมือนเป็นแหล่งขุมทรัพย์ย่อย ๆ ของคุณเลยทีเดียว มันจะบอกปัญหาเรื่องการทำให้โปรแกรมทำงานร่วมกันได้และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นอกจากนั้น ในนิตยสาร TechNet ฉบับเดือนมิถุนายน 2009 (June 2009 issue of TechNet Magazine) ยังกล่าวถึงเรื่องการทำงานร่วมกันได้ของโปรแกรมด้วยครับ
แล้วกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการสิทธิ์ local-admin จริง ๆ ล่ะ อย่างพวกผู้ดูแลระบบและนักพัฒนาระบบต่าง ๆ แล้วไหนจะผู้ใช้งานที่เส้นใหญ่พอที่จะทำให้ตัวเองกลับมาใช้งานสิทธิ์ local-admin ได้อีกครั้ง คุณอยากให้ผู้ใช้งานเหล่านี้เข้ามาจุ้นจ้านกับงานของคุณทั้งวันหรือครับ ผมหวังว่า คำตอบของคุณคือ “ไม่อยาก” นะครับ และเหตุนี้ล่ะครับที่ฟังก์ชัน User Account Control (UAC) ซึ่งมีความดุดันกว่าจะเข้ามาเป็นเพื่อนคุณในยามยากทีเดียว มาร์ค รัสซิโนวิช ได้เขียนบทความไว้อย่างละเอียดเรื่อง “ล้วงลูก User Access Control” หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Inside Windows 7 User Access Control ตีพิมพ์ในนิตยสาร TechNet เดือนกรกฎาคม 2009 ก่อนที่คุณจะตัดสินใจปิดไม่ใช้งานฟังก์ชัน UAC นี้ไป คุณควรอ่านบทความนั้นเสียก่อนนะครับ

คุณสามารถเป็นวีรบุรุษได้มากกว่าหนึ่งวัน

คุณต้องทำอะไรเยอะมากเพื่อเตรียมตัวที่จะลงและวางระบบ Windows 7 แต่ก็คุ้มค่าครับถ้าผู้ใช้งานต้องการระบบปฏิบัติการใหม่ ๆ คนที่เคยลองใช้ระบบ Windows 7 ชอบหน้าตารูปแบบใหม่ พวกเขาชอบที่มันดูสมบูรณ์กระชับ ชอบ รวมไปถึงการตอบสนองของระบบและฟังก์ชันรูปแบบใหม่ ๆ ครับ
โอกาสที่จะทำให้คุณเป็นผู้ดูแลระบบขวัญใจผู้ใช้งานคนใหม่ไม่ได้มาบ่อย ๆ นะครับ ผมจะสนุกกับมันจนกระทั่งมันหายสนุกครับ คุณเองก็ควรด้วยเหมือนกัน โชคดีกับการลงระบบ Windows 7 นะครับ แล้วอย่าลืมแวะมาเล่าให้ผมฟังบ้างละกันครับ
บิล บอสเวลล์ (billb@microsoft.com)
เป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับสำนักงาน Microsoft Consulting Services ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐอริโซนา ขณะนี้ บิลได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการวางระบบและโครงสร้างของไอทีให้กับบริษัทสายการบินแห่งหนึ่ง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น